วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาและความเชื่อ

ภาพจากเว็บไซด์ http://www.th.wikipedia.org


ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ในบบริเวณที่ตัดกับถนนอุนากรรณ ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ เป็นศาลเจ้าชาวจีนแต้จิ๋ว (สายลัทธิเต๋า) ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย คนจีนเรียกกันว่า"ตั่วเล่าเอี้ย" เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ ก็เรียก), รูปเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและจีนเป็นอย่างมาก

ศาลเจ้าพ่อเสือ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปีที่ก่อสร้างตรงกับ พ.ศ. 2377 มีความเกี่ยวเนื่องกับวัดมหรรณพาราม เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้พระยาโชฎีราชเศรษฐีย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะอาคารสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาลคือ “เสียนเทียนซั่งตี้” หรือที่คนไทยเรียกว่า “เจ้าพ่อเสือ” นั่นเอง เรื่องราวตำนานของเจ้าพ่อเสือที่ชาวบ้านย่านนี้เล่าขานนั้น เชื่อมโยงกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพารา (วัดมหรรณพ์) ด้วยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวไทยและชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านาน

"เสือ" เป็นสัตว์ที่คนจีนเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชมาก สามารถปราบผีหรือสิ่งเลวร้ายของชีวิตได้ หากบ้านใครตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่ง หรือจุดที่ถือกันว่าจะมีวิญญาณเลวร้ายพุ่งเข้าบ้าน จะนิยมเอาเสือคาบดาบไปแขวนไว้ที่หน้าบ้านเพื่อขจัดสิ่งเลวร้าย เคราะห์ร้ายที่จะมากล้ำกรายชีวิตของเราให้พ้นไปหรือว่าบรรเทาลงได้

เชื่อกันว่าทุก ๆ ปีขาลที่เวียนมาถึงจะเป็นปีที่มีธุรกิจล้มละลายกันมากเป็นประวัติการณ์ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ พากันปิดกิจการกันมาก ภาระการค้ามีอุปสรรคมาก อย่างไรก็ตามคัมภีร์โหราศาสตร์จีน (โป๊ยยี่สี่เถี่ยวเก็ง)บันทึกไว้ว่า "ในปีขาล (เสือ) นี้บุคคลที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเสือแล้ว กลับจะเป็นปีที่มีความก้าวหน้าอย่างมากมายในขณะที่คนอื่นต้องพบกับชะตากรรมที่ถูกผลักดันให้ตกต่ำ ไม่ได้รับการเอาใจใส่ในช่วงเวลาอันวุ่นวายของปีเสือนี้" ดังนั้นผู้เขียน (พ. สุวรรณ) ขอแนะนำว่า ท่านผู้อ่านที่มีเกณฑ์ชะตาไม่ค่อยดีหรือผู้อ่านที่ต้องการความมั่นใจ ท่านควรหาโอกาสไปไหว้เจ้าที่ ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ซึ่งชาวจีนเรียกกันว่า "ตั่วเล่าเอี้ย" ให้ได้ในปีขาลหรือทุก ๆ ปีขาลที่เวียนมาถึง เป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อเสริมมงคลให้แก่ตัวเองและครอบครัว เมื่อท่านได้ทำตามที่ว่าท่านลองสังเกตุดูท่านจะรู้สึกว่า ชีวิตของท่านจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ (ซึ่งผู้เขียนเคยประสบกับตนเองมาแล้ว) ปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่เคยขัดขวางท่านกลับคลี่คลายและลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ครอบครัวชาวจีนที่ยังไม่มีลูก ต้องการอยากมีมากๆก็จะไปขอลูกที่ "ตั่วเล่าเอี๊ย" หรือศาลเจ้าพ่อเสือในคืนวันที่ 15 ค่ำ เดือน 1 (ตามปฏิทินจีน) ชาวจีนเรียกพิธีนี้ว่า "จับโหงวแม้" (แปลว่า "คืนวันที่ ๑๕ ค่ำ") โดยนำ "ทึ้งถะ" หรือเจดีย์ที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้ คนที่อยากมีลูกแล้วไปขอ ท่านแนะนำว่า ต้องให้ฝ่ายชายไปไหว้แล้วขโมย "ทึ้งไซ" หรือสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลกลับมาบูชาที่บ้าน เมื่อได้ลูกสมปรารถนาแล้วปีหน้าหรือปีถัดไปต้องเอาสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้ใช้คืนสองเท่า หรือสองตัวนั่นเอง เผื่อให้ครอบครัวอื่นที่ยังไม่มีลูกจะได้ไปขโมยบ้าง

ปัจจุบันเพื่อความสะดวก ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ได้อำนวยความสะดวก โดยตั้งจุดขายสิงโตน้ำตาล และเจดีย์น้ำตาล เพื่อลดความแออัดและความชุลมุนวุ่นวาย

ทุกวันนี้มีคนไปไหว้กันมาก เดินแทบไม่ได้แถมยังถูกรมด้วยควันธูปที่คลุ้งกระจายจนแสบตา หลายคนน้ำตานองหน้ากว่าจะเข้าถึงองค์เจ้าพ่อเพื่อให้อาแป๊ะหรือเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าเอาเนื้อหมูสด (ท่านสามารถหาซื้อได้จากแม่ค้ารอบๆศาลเจ้า) ที่ถวายถูที่ปากท่านแล้วพูดว่า "เฮงๆ" นั่นแหละ…ขอให้เฮง หรือโชคดี สมปรารถนาตลอดปีและตลอดไป ที่สำคัญอย่าลืมเช่า "ฮู้" หรือยันต์เจ้าพ่อเสือที่ศาลเจ้ามาติดไว้ที่บ้านหรือสำนักงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่รอดปลอดภัย ส่วนท่านที่เกิดปีขาล ปีมะเส็ง ปีวอกและปีกุน ขอแนะนำว่าในทุกๆปีขาลที่เวียนมาถึงควรไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าพ่อเสือให้ได้ โดยเฉพาะคนปีขาลและปีวอกต้องขอเน้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่มีอิทธิพลท่านมากจริงๆ และเพื่อความมั่นใจและได้ผลอย่างแน่นอน ควรไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" (เทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือเทพเจ้าเงินตรา) ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ชาวจีนที่มีอายุมากๆ ตลอดจนซินแสทั้งหลายต่างร่ำรือถึงความศักสิทธิ์ว่า ไช้ซิ้งเอี๊ย องค์ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ใครดวงไม่ดีแต่อยากรุ่งหรือใครที่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ท่านจะช่วยดังนั้นชาวจีนจึงนิยมไปไหว้กันมาก

ภาพจากเว็บไซด์ http://www.nairobroo.com


ปัจจุบันนิยมไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อ "เสริมอำนาจบารมี" โดยใช้ ธูป 18 ดอก และเทียนแดงคู่ เป็นเครื่องสักการะ วิธีสักการะ ไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือ จะต้องซื้อเครื่องเซ่นซึ่งประกอบด้วย หมูสามชั้น ไข่สด และข้าวเหนียวหวาน อีกทั้งผู้คนก็นิยมมาเสี่ยงเซียมซีในศาลเจ้านี้ที่ขึ้นชื่อว่าทายแม่นเหมือนตาเห็นอีกด้วย

นอกจากจะเป็นที่เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีความงามด้านสถาปัตยกรรม และ การตกแต่งภายในอีกด้วย โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่ประดับอยู่ภายในศาลเจ้านั้น บางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปีเลยทีเดียว

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปสักการะคือ 06.00 - 17.00 น. ทุกวัน ควรแต่งกายสุภาพ และเพื่อความสะดวก ควรเดินทางด้วยรถประจำทาง หรือรถแท็กซี่ เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด

อ้างอิงจาก:
1. http://www.geocities.com/sanjaoporsua - ข้อมูลจาก หนังสือไหว้เจ้าเสริมดวงชะตา (โดย พ.สุวรรณ - สำนักพิมพ์บ้านมงคล)
2. http://www.th.wikipedia.org/
3. http://www.nairobroo.com/
4. http://travel.sanook.com/ - ข้อมูลโดย สิริลักษณ์ จินตนะดิลกกุล
5. http://pirun.ku.ac.th/